Skip Navigation Linksหน้าหลัก มาตรา 9 แผนงาน/โครงสร้าง

แผนงาน/โครงสร้าง

:::::::
แผนปฏิบัติราชการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พ.ศ. 2566- 2570


เรื่องที่ ๑ การพัฒนาระบบสวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายและสังคมอย่างยั่งยืน
แนวทางพัฒนา
            ๑. พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบกลไก และมาตรการ การจัดสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมในทุกมิติ โดยการกำหนดมาตรฐานการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมและชัดเจนในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน
            ๒. คุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบ
ปัญหาสังคมและภาวะยากลำบากไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้  ทั้งการคุ้มครองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ครอบคลุมการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมและสวัสดิการพื้นฐานของภาครัฐได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้กระบวนการสังคมสงเคราะห์เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productive Welfare) รวมถึงการมีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการประสบภาวะยากลำบากและไร้ที่พึ่ง
            ๓. พัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนแนวทาง
การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม การบูรณาการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างผลิตภาพ การเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แหล่งเงินทุน ตลอดจนการใช้ทุนทางสังคม อาทิ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว โรงเรียน ศาสนสถาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม


เรื่องที่ ๒  การเสริมพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการ
แนวทางพัฒนา
             ๑. เสริมสร้างสภาพแวดล้อมและกลไกการทำงานของภาคีเครือข่าย โดยสร้างสังคมแห่งการให้และช่วยเหลือกันและกัน โดยการพัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายและอาสาสมัครในระดับชาติ และระดับจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมให้มีกลไกเชื่อมโยงกับนโยบายและการบริหารจัดการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
             ๒. เสริมสร้างศักยภาพของภาคีเครือข่าย โดยการส่งเสริมความรู้ ทักษะ และการเสริมพลังทางสังคม บูรณาการการจัดสวัสดิการสังคมและพัฒนาสังคม เพื่อส่งเสริมให้อาสาสมัครและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ได้อย่างมีมาตรฐาน
             ๓. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคม โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมและเสริมสร้างแรงจูงใจ ในรูปแบบต่างๆ เช่น  การยกย่องเชิดชู การประกาศเกียรติคุณ การให้ค่าตอบแทนในบางกรณี การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน เป็นต้น


เรื่องที่ ๓ การพัฒนาบริการและประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร
แนวทางพัฒนา
             ๑. พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล สารสนเทศ และฐานข้อมูลที่ทันสมัย พัฒนาและยกระดับกระบวนงานบริการประชาชน และการบริหารจัดการองค์กร โดยใช้ระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ และฐานข้อมูลที่ทันสมัยโดยการพัฒนากระบวนงานการให้บริการประชาชนในระบบดิจิทัล  การพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมให้มีช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่หลากหลาย รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาผู้ใช้งานระบบระบบเทคโนโลยีดิจิทัล สารสนเทศ และฐานข้อมูล ทั้งบุคลากร และประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้และทักษะในการใช้งานและการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล จัดทำคู่มือการใช้งานที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Digital Divide) ของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสทางสังคม
             ๒. ส่งเสริมการจัดการความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากร เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการจัดการความรู้ในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร และยกระดับการศึกษาเป็นงานวิจัย  พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและทักษะในการจัดการความรู้ การทำงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมด้านพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นหุ้นส่วนและเป็นเครือข่ายทางวิชาการในการวิจัยด้านพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
             ๓. พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง และมีประสิทธิภาพ ยกระดับและพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  (PMQA) เพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศได้รับการยอมรับอย่างเป็นที่ประจักษ์มีการบริหารจัดการอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อความปลอดภัยในที่ทำงานของบุคลากรและผู้รับบริการ   เน้นการบริหารองค์กรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ มีการประเมินทบทวน ปรับปรุง พัฒนา กฎหมายให้มีความทันสมัยเป็นปัจจุบัน และการปรับสมดุลองค์กรที่มีความเหมาะสม ยืดหยุ่น ส่งเสริมและยกระดับบทบาทองค์กรและภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมในจัดบริการ    

             ๔. บริหารกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ ยึดหลักคุณธรรม วางแผนกำลังคน รูปแบบการจ้างงาน การสรรหา การคัดเลือก การแต่งตั้งภายใต้ระบบคุณธรรม เอื้อต่อการหมุนเวียน ถ่ายเทแลกเปลี่ยน และโยกย้าย การวางแผนอัตรากำลังที่เหมาะสมในแต่ละสายงาน ความก้าวหน้าตามสายอาชีพ รวมถึงการทบทวนและปรับเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีมาตรฐานเหมาะสมกับภาระงาน พัฒนาศักยภาพบุคลากรมีทักษะเรียนรู้ที่ทันสมัย เป็นมืออาชีพ มีคุณธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะและสมรรถนะตามสายงานที่ปฏิบัติ (Functional Skillset) ส่งเสริมความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ส่งเสริมให้บุคลากรมีความสามารถทำงานได้หลากหลาย (Multi Skillset) และมีทักษะอื่นที่จำเป็น (Soft Skill) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เช่น ทักษะในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการทำงานกับผู้อื่น การเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาการสร้างกรอบความคิด (Growth Mindset) ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม ความโปร่งใส และการไม่ทนต่อการทุจริต    






 


© สงวนลิขสิทธิ์ 2567 ศุนย์ข้อมูลข่าวสาร
DSDW Information Center
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100