ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2558

 

 

http://www.thaigov.go.th

 

                   วันนี้ (7 กรกฎาคม 2558) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1

ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

?                    ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด พร้อมด้วย  พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี  สรุปสาระสำคัญดังนี้

 




กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ....

                    2.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....

                    3.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีกา รวม 9 ฉบับ

                    4.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล

                                        คดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                    5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..)                               พ.ศ. ....

                   6.       เรื่อง     การประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ 3 ว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Third                                       International Conference on Financing for Development)

                   7.       เรื่อง     ขออนุมัติการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืช                                              สำหรับผลชมพู่สดส่งออกจากไทยไปจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์                                            แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงควบคุมคุณภาพและกักกันโรคแห่ง                                             สาธารณรัฐประชาชนจีน

                    8.       เรื่อง     ขออนุมัติโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ (400 ไร่) ตำบลหนอง

                                        มะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท

                    9.       เรื่อง     การดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และ                                            ระเบียบ

                    10.      เรื่อง     การประชุมหารือด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน และการปฏิบัติการฝนหลวง                                              ระหว่างไทย – กาตาร์

                    11.      เรื่อง     การแก้ไขความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างรัฐ

                    12.      เรื่อง     ร่างเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี

                                        ไทย – รัสเซีย ครั้งที่ 6

                   




แต่งตั้ง

 

                    13.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                             ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                    14.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

                    15.      เรื่อง     การแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  (กระทรวงการคลัง)

                    16.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                             ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

           

 

                    17.      เรื่อง     การแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้าน                                            อาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมที่เกี่ยวข้อง (AMMTC) และการแต่งตั้ง                                            คณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC)

         

 

*******************

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




กฎหมาย

 

2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

                   2. อนุมัติให้ถอนร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... จากการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

                   1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ที่มีลักษณะเป็นการผลิต หรือจำหน่าย หรือบริการเพื่อหารายได้ การดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์และการบริการทางทหารโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล และการดำเนินการโดยใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ที่สัญญาหรือข้อกำหนด  ในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

                   2. กำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ กำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ ความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้

                   3. กำหนดให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

                   4. กำหนดคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์และข้อร้องเรียน และอื่น ๆ

                   5. กำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีอำนาจหน้าที่ ในการดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุ รวบรวม  วิเคราะห์ และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย และจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐตามหลักวิชาชีพ

                   6. กำหนดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้

                             6.1 การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และให้ประกาศเผยแพร่แผนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง

                             6.2 วิธีการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างที่ปรึกษา ให้กระทำได้ 3 วิธี ได้แก่ (1) วิธีประกาศ  เชิญชวนทั่วไป (2) วิธีคัดเลือก (3) วิธีเฉพาะเจาะจง ส่วนวิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ วิธีประกวดแบบ

                             6.3 การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้พิจารณาคุณภาพประกอบราคาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่การจะใช้เกณฑ์ใดและให้น้ำหนัก            ในแต่ละเกณฑ์เท่าใด ต้องมีการประกาศให้ทราบเป็นการล่วงหน้าในประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง

                             6.4 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการก่อสร้างต้องขึ้นทะเบียน     ไว้กับกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

                             6.5 การรวมซื้อรวมจ้าง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดอาจดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างพัสดุให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ๆ ก็ได้ ภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและคู่สัญญา

                             6.6 การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การจัดทำประกาศเชิญชวน การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอ การประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาและการแก้ไขสัญญา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ

                   7. กำหนดเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ โดยผลการประเมินให้เป็น        ส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกระงับการยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

                   8. กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถร้องเรียนหน่วยงานของรัฐได้ กรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และหากผู้ประกอบการไม่พอใจผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนต่อไปได้อีก

                   9. กำหนดบทกำหนดโทษ โดยกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับการกระทำความผิดนั้น และหาก              การกระทำความผิดนั้น เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้

 




ต่างประเทศ

 

9. เรื่อง การดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ เรื่อง ANSSR: Developing Regulatory Impact Assessment (RIA) Guidelines as an Anti – Corruption Tool ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คสช.) ตามโครงการดังกล่าว

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   ยธ. รายงานว่า

                   1. ประเทศไทยมีการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) มาใช้เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว มีทั้งการประเมินความจำเป็นในการตรากฎหมาย (ex ante assessment) และการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว (ex post evaluation of legislation) ตามคู่มือตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำคำชี้แจงตาม “หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติในหลักการของร่างกฎหมาย (Policy Approval) ส่วนการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่ใช้บังคับแล้วนั้น ได้มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 35 ให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบและทบทวนบรรดากฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อปรับปรุงกฎหมายลำดับรองให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวการณ์และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ แต่การปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นเพียงการจัดทำรายงานตามแบบที่กำหนดโดยไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้านส่งผลให้ไม่สามารถประเมินผลได้ผลเสียของร่างกฎหมายนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ของ สศช. พบว่า ปัจจัยด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ภาครัฐ ปัจจัยด้านความโปร่งใสและปัจจัยด้านคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยถ่วงที่ทำให้ขีดความสามารถโดยรวมของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ

                   2. การดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ เรื่อง ANSSR: Developing Regulatory Impact Assessment (RIA) Guidelines as an Anti – Corruption Tool จะเป็นการพัฒนาเอกสารแนะแนวสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ยธ. และ สศช. ได้จัดทำแผนงานเพื่อกำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกันประกอบด้วยกิจกรรมหลัก จำนวน       3 กิจกรรม คือ 1) การจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) 2) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปรับปรุงแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) และ 3) การเผยแพร่แนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) พร้อมกับจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างวิทยากรฝึกอบรมด้านการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถพัฒนาบุคลากรของตนเองได้

                   3. ยธ. และ สศช. จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ (Workshop on Thailand RIA Guidelines Development) ในวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2558 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ และยกร่างเอกสารเรื่อง Regulatory Impact Assessment (RIA) in Thailand เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการจัดประชุมดังกล่าว และได้ประสานงานเพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การเอเปค องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำนักเลขาธิการอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รวมทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบทางกฎหมายมาใช้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และมาเลเซีย มาเป็นวิทยากร พร้อมกับเชิญผู้แทนประเทศในกลุ่มเอเปค อาทิ ชิลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม รัสเซีย เม็กซิโก เปรู เข้าร่วมการประชุมด้วย

 




แต่งตั้ง

 

17. เรื่อง การแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมที่เกี่ยวข้อง (AMMTC) และการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอดังนี้

                   1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติขึ้นใหม่ โดยมีโครงสร้างองค์ประกอบคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ให้มีความเหมาะสม เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับส่วนราชการ/หน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติของไทย รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานและประสานความร่วมมือในกรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

                   2. ให้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานความมั่นคง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมที่เกี่ยวข้อง (AMMTC)

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

                   คณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

                   องค์ประกอบ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

                   อำนาจหน้าที่

                   1. เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางและมาตรการหรือแผนปฏิบัติการในการป้องกันปราบปรามและต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติต่อคณะรัฐมนตรี  โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรองรับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

                   2. วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียน และประเทศคู่เจรจาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

                   3. อำนวยการและประสานการปฏิบัติงานระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ นโยบาย แนวทางและมาตรการในการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียน และประเทศคู่เจรจา

                   4. ประสานทางนโยบายและข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาและพิจารณาเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบาย

                   5. ดำเนินการพัฒนาความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียน และประเทศคู่เจรจาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันเพื่อป้องกันปราบปราม และต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

                   6. เชิญผู้แทนหน่วยงาน หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือให้ข้อมูล หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

                   7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่เกี่ยวข้อง ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

                   8. ดำเนินการอื่น ๆ ที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

…………………………………. 


  ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ | วันที่ประกาศ :05/08/2558



© สงวนลิขสิทธิ์ 2567 ศุนย์ข้อมูลข่าวสาร
DSDW Information Center
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100